บทความ

การจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) เพื่อการวัดประเมินผลเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียน

การจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) เพื่อการวัดประเมินผลเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียน

การจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) เพื่อการวัดประเมินผลเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียน

การจัดการเรียนรู้มีหลายรูปแบบ การจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) เป็นการจัดการเรียนรู้รูปแบบหนึ่งที่จะช่วยพัฒนาผู้เรียนให้เกิดสมรรถนะดังนี้ ในบทความนี้นำเสนอเฉพาะการจัดการเรียนรู้เชิงรุกเกี่ยวกับความหมายของการจัดการเรียนรู้เชิงรุก ลักษณะของการจัดการเรียนรู้เชิงรุกรูปแบบของการจัดการเรียนรู้เชิงรุก เทคนิคการเรียนรู้เชิงรุก และกลยุทธ์การจัดการเรียนรู้เชิงรุก โดยมีรายละเอียดดังนี้

ความหมายของการจัดการเรียนรู้เชิงรุก

สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ได้สรุปว่า การจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) คือ การจัดการเรียนรู้ที่ผู้เรียนต้องศึกษาจัดกระทำข้อมูล และสร้างความเข้าใจในข้อมูล หรือความรู้นั้น ๆ ให้แก่ตนเอง เพื่อทำให้สิ่งที่เรียนรู้มีความหมายต่อตนเอง อันจะส่งผลให้สามารถนำความรู้นั้นไปใช้ประโยชน์ได้ในการสร้างความเข้าใจให้แก่ตนเองนั้น จะต้องอาศัยกระบวนการเรียนรู้อย่างตื่นตัว ทั้งทางกาย (Physically active) สติปัญญา (Intellectually active) สังคม (Socially active) และอารมณ์ (Emotionally active)

ณิรดา เวษญาลักษณ์ ได้สรุปว่า การจัดการเรียนรู้เชิงรุก คือ กระบวนการจัดการเรียนการสอนที่ให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนและการทำกิจกรรมต่าง ๆ โดยเปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์กับผู้สอน และเพื่อนในชั้นเรียน โดยการเขียนการพูด การฟังและการอ่าน และนำมาอภิปรายเพื่อสะท้อนความคิด

หน่วยศึกษานิเทศก์ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้สรุปว่าการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) เป็น กระบวนการเรียนการสอนที่ผู้เรียนได้เรียนรู้ผ่านการปฏิบัติหรือการลงมือทำด้วยตนเอง ความรู้ที่เกิดขึ้นเป็นความรู้ที่ได้จากประสบการณ์ กระบวนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ผู้เรียนได้มีโอกาสลงมือกระทำมากกว่าการฟังเพียงอย่างเดียว ผู้สอนต้องจัดกิจกรรมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้โดยการอ่าน การเขียน การโต้ตอบ และการวิเคราะห์ปัญหา อีกทั้ง ให้ผู้เรียนได้ใช้กระบวนการคิดขั้นสูง ได้แก่การวิเคราะห์ การสังเคราะห์ และการประเมินค่า Active Learning จึงเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้อย่างมีความหมาย ในการนี้ ผู้สอนจึงต้องลดบทบาทในการสอนและการให้ความรู้แก่ผู้เรียนโดยตรงแต่ไปเพิ่มกระบวนการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติและกิจกรรมที่จะทำให้ผู้เรียนลงมือทำ เกิดความกระตือรือร้นในการทำกิจกรรมต่าง ๆ อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ โดยการพูด การเขียนการโต้ตอบ การอภิปรายกับเพื่อน ๆ จัดกระบวนการเรียนรู้ที่ทำให้ผู้เรียนสามารถรักษาผลการเรียนรู้ให้อยู่คงทนได้มาก และนานกว่ากระบวนการเรียนรู้อื่น ๆ เพราะกระบวนการเรียนรู้ Active Learningจะสอดคล้องกับการทำงานของสมองของผู้เรียนที่เกี่ยวข้องกับความจำ โดยสามารถเก็บและจำสิ่งที่ได้เรียนรู้อย่างมีส่วนร่วมมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน ผู้สอน สิ่งแวดล้อมต่าง ๆ และการเรียนรู้ที่ได้ปฏิบัติจริงด้วยตนเองไว้ในระบบความจำระยะยาว (Long-term memory) ทำให้ผลการเรียนรู้ยังคงอยู่ได้ในปริมาณที่มากกว่า ระยะยาวนานกว่ากระบวนการเรียนรู้ที่ผู้เรียนเป็นฝ่ายตั้งรับความรู้ (Passive Learning) ซึ่งอธิบายไว้เป็นแผนภาพพีระมิดแห่งการเรียนรู้ (The Learning Pyramid) โดยแบ่งกระบวนการเรียนรู้เป็น 2 กระบวนการ คือกระบวนการเรียนรู้แบบตั้งรับ Passive learning และกระบวนการเรียนรู้เชิงรุกActive Learning

การจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) เพื่อการวัดประเมินผลเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียน

จากรูปจะเห็นได้ว่าพีระมิดแห่งการเรียนรู้นี้ได้แบ่งเป็น 2 กระบวนการ คือ

  1. กระบวนการเรียนรู้แบบตั้งรับ (Passive Learning)
    • การเรียนรู้โดยการอ่าน ท่องจำ ผู้เรียนจะจำได้ในสิ่งที่เรียนเพียงร้อยละ 10
    • การเรียนรู้โดยการฟังบรรยายเพียงอย่างเดียวโดยที่ผู้เรียนไม่มีโอกาสได้มีส่วนร่วมในการเรียนรู้ด้วยกิจกรรมอื่น ในขณะที่ผู้สอนสอน เมื่อเวลาผ่านไป ผู้เรียนจะจำได้เพียงร้อยละ 20 หากในการเรียนการสอนผู้เรียนมีโอกาสได้เห็นภาพประกอบด้วย ก็จะทำให้ผลการเรียนรู้คงอยู่ได้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 30
    • การเรียนรู้ที่ผู้สอนจัดประสบการณ์ให้กับผู้เรียนเพิ่มขึ้น เช่น การให้ดูภาพยนตร์การสาธิต จัดนิทรรศการให้ผู้เรียนได้ดู รวมทั้งการนำผู้เรียนไปทัศนศึกษาหรือดูงานก็ทำให้ผลการเรียนรู้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ50
  2. กระบวนการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning)
    • ผู้เรียนมีบทบาทในการแสวงหาความรู้และเรียนรู้อย่างมีปฏิสัมพันธ์จนเกิดความรู้ความเข้าใจ นำไปประยุกต์ใช้ สามารถวิเคราะห์ สังเคราะห์ ประเมินค่า หรือสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ และพัฒนาตนเองเต็มความสามารถ รวมถึง การจัดประสบการณ์การเรียนรู้ได้ร่วมอภิปรายให้ฝึกทักษะการสื่อสาร ทำให้ผลการเรียนรู้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 70
    • การนำเสนอผลงานทางการเรียนรู้ในสถานการณ์จำลอง ทั้งมีการฝึกปฏิบัติในสภาพจริงมีการเชื่อมโยงกับสถานการณ์ต่าง ๆ จะทำให้ผลการเรียนรู้เกิดขึ้นถึงร้อยละ 90

รูปแบบของการจัดการเรียนรู้เชิงรุก

  1. การเรียนรู้เชิงประสบการณ์ (Experiential Learning) เป็นการสอนที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้จากประสบการณ์ที่เป็นรูปธรรม เพื่อนำไปสู่ความรู้ความเข้าใจเชิงนามธรรม เหมาะกับรายวิชาที่เน้นปฏิบัติหรือเน้นการฝึกทักษะ สามารถใช้จัดการเรียนการสอนได้ทั้งเป็นกลุ่ม และเป็นรายบุคคล หลักการสอนคือ ผู้สอนวางแผนจัดสถานการณ์ให้ผู้เรียนมีประสบการณ์จำเป็นต่อการเรียนรู้กระตุ้นให้ผู้เรียนสะท้อนความคิด อภิปรายสิ่งที่ได้รับจากสถานการณ์ ตัวอย่างเทคนิคการสอนที่ใช้ในการจัดการเรียนรู้แบบเน้นประสบการณ์ ได้แก่ เทคนิคการสาธิต และเทคนิคเน้นการฝึกปฏิบัติ
  2. การสอนแบบโครงงาน (Project-based learning) โดยการสอนแบบโครงงานสามารถจัดเป็นกิจกรรมกลุ่มหรือกิจกรรมเดี่ยวก็ได้ ให้พิจารณาจากความยากง่าย ความเหมาะสมของโจทย์งาน คุณลักษณะที่ต้องการพัฒนา วางแผน และกำหนดเกณฑ์อย่างกว้าง ๆ แล้วให้ผู้เรียนวางแผนดำเนินการศึกษาค้นคว้าข้อมูลด้วยตนเอง โดยผู้สอนมีบทบาทเป็นผู้ให้คำปรึกษา จากนั้นให้ผู้เรียนนำเสนอแนวคิดการออกแบบชิ้นงานพร้อมให้เหตุผลประกอบจากการค้นคว้าให้ผู้สอนพิจารณาร่วมกับการอภิปรายในชั้นเรียน จากนั้นผู้เรียนลงมือปฏิบัติทำชิ้นงาน และรายงานความก้าวหน้าตามกำหนด การประเมินผลจะประเมินตามสภาพจริง โดยมีเกณฑ์การประเมินกำหนดไว้ล่วงหน้าและแจ้งให้ผู้เรียนทราบก่อนลงมือทำโครงการ และอาจมีการเชิญผู้ทรงคุณวุฒิร่วมประเมินผล
  3. การสอนแบบใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-based learning) เป็นการสอนที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด ด้วยการศึกษาปัญหาที่สมมุติขึ้นจากความจริง แล้วผู้สอนกับผู้เรียนร่วมกันวิเคราะห์ปัญหาเสนอวิธีแก้ปัญหา หลักของการสอนแบบใช้ปัญหาเป็นฐาน คือการเลือกปัญหาที่สอดคล้องกับเนื้อหาการสอนและกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดค าถาม วิเคราะห์ วางแผน และกำหนดวิธีแก้ปัญหาด้วยตนเอง โดยผู้สอนมีบทบาทให้คำแนะนำแก่ผู้เรียนขณะลงมือแก้ปัญหา สุดท้ายเมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการแก้ปัญหา ผู้สอนและผู้เรียนร่วมกันสรุปผลการแก้ปัญหา และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถึงสิ่งที่ได้จากการลงมือแก้ปัญหา
  4. การสอนที่เน้นทักษะกระบวนการคิด (Thinking-based learning) เป็นกระบวนการสอนที่ผู้สอนใช้เทคนิค วิธีการกระตุ้นให้ผู้เรียน คิดเป็นลำดับขั้นแล้วขยายความคิดต่อเนื่องจากความคิดเดิม พิจารณาแยกแยะอย่างรอบด้าน ให้เหตุผลและเชื่อมโยงกับความรู้เดิมที่มีจนสามารถสร้างสิ่งใหม่ หรือตัดสินประเมินหาข้อสรุปแล้วนำไปแก้ปัญหาอย่างมีหลักการ

ลักษณะของการจัดการเรียนรู้เชิงรุก

การจัดการเรียนรู้เชิงรุก ผู้สอนสามารถจัดกิจกรรมได้ทั้งในหน่วยการเรียนรู้หรือแผนการจัดการเรียนรู้ในรายวิชาหรือกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่าง ๆ และในกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนหรือกิจกรรมเสริมทักษะของสถานศึกษา ซึ่งควรมีลักษณะ ดังนี้

  1. เป็นการพัฒนาศักยภาพการคิด การแก้ปัญหา และการนำความรู้ไปประยุกต์ใช้
  2. ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการจัดระบบการเรียนรู้ และสร้างองค์ความรู้โดยมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันในรูปแบบของความร่วมมือมากกว่าการแข่งขัน
  3. เปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้สูงสุด
  4. เป็นกิจกรรมที่ให้ผู้เรียนบูรณาการข้อมูลข่าวสาร สารสนเทศ สู่ทักษะการคิดวิเคราะห์และประเมินค่า
  5. ผู้เรียนได้เรียนรู้ความมีวินัยในการทำงานร่วมกับผู้อื่น
  6. ความรู้เกิดจากประสบการณ์และการสรุปของผู้เรียน
  7. ผู้สอนเป็นผู้อำนวยความสะดวกการจัดการเรียนรู้ เพื่อให้ผู้เรียนเป็นผู้ปฏิบัติด้วยตนเอง
  8. จัดกิจกรรมที่เน้นการมีปฏิสัมพันธ์กันระหว่างผู้เรียนกับผู้สอนและระหว่างผู้เรียนด้วยกัน

เทคนิคการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning)

แนวคิดหรือมโนทัศน์ของเทคนิคการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) คือ ลักษณะการเรียนรู้ของผู้เรียน ที่ผู้เรียนมิใช่เป็นเพียงผู้รับความรู้ที่ถ่ายทอดมาให้เท่านั้น ผู้เรียนจะต้องเป็นฝ่ายรุก คือมีความตื่นตัวที่ต้องเรียนรู้จัดกระทำ สร้างความเข้าใจด้วยตนเอง ทำให้สิ่งที่เรียนรู้มีความหมาย นำความรู้นั้นไปใช้ประโยชน์ได้ ผู้เรียนต้องอาศัยกระบวนการเรียนรู้อย่างตื่นตัว (Active Learning ) ทั้งทางร่างกายสติปัญญา สังคม และอารมณ์ สามารถสร้างให้เกิดขึ้นได้ทั้งในและนอกห้องเรียน รวมทั้ง สามารถใช้ได้กับผู้เรียนทุกระดับ ทั้งการเรียนรู้เป็นรายบุคคล การเรียนรู้แบบกลุ่มเล็ก และการเรียนรู้แบบกลุ่มใหญ่การจัดการเรียนรู้เชิงรุกมีเทคนิคที่หลากหลาย ดังนี้

การจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) เพื่อการวัดประเมินผลเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียน
  1. การเรียนรู้แบบแลกเปลี่ยนความคิด (Think-pair-share) คือ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนคิดเกี่ยวกับประเด็นที่กำหนดคนเดียว 2-3 นาที (Think) จากนั้น ให้แลกเปลี่ยนความคิดกับเพื่อนอีกคน 3-5 นาที (Pair) และนำเสนอความคิดเห็นต่อผู้เรียนทั้งหมด (Share)
  2. การเรียนรู้แบบร่วมมือ (Collaborative learning group) คือ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนได้ทำงานร่วมกับผู้อื่น โดยจัดกลุ่ม ๆ ละ 3-6 คน
  3. การเรียนรู้แบบทบทวนโดยผู้เรียน (Student-led review sessions) คือ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ทบทวนความรู้และพิจารณาข้อสงสัยต่าง ๆ ในการปฏิบัติกิจกรรมการเรียนรู้ โดยผู้สอนจะคอยช่วยเหลือกรณีที่มีปัญหา
  4. การเรียนรู้แบบใช้เกม (Games) คือ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ผู้สอนนำเกมเข้ามาบูรณาการในการเรียนการสอน ซึ่งใช้ได้ทั้งในขั้นการนำเข้าสู่บทเรียน การสอน การมอบหมายงาน และหรือขั้นการประเมินผล
  5. การเรียนรู้แบบวิเคราะห์วิดีโอ (Analysis or reactions to videos) คือ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนได้ดูวิดีโอ 5-20 นาที แล้วให้ผู้เรียนแสดงความคิดเห็น หรือสะท้อนความคิดเกี่ยวกับสิ่งที่ได้ดูอาจโดยวิธีการพูดโต้ตอบกัน การเขียน หรือการร่วมกันสรุปเป็นรายกลุ่ม
  6. การเรียนรู้แบบโต้วาที (Student debates) คือ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่จัดให้ผู้เรียนได้นำเสนอข้อมูลที่ได้จากประสบการณ์และการเรียนรู้ เพื่อยืนยันแนวคิดของตนเองหรือกลุ่ม
  7. การเรียนรู้แบบผู้เรียนสร้างแบบทดสอบ (Student-generated exam questions) คือการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนสร้างแบบทดสอบจากสิ่งที่ได้เรียนรู้มาแล้ว
  8. การเรียนรู้แบบกระบวนการวิจัย (Mini-research proposals or project) คือ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่อิงกระบวนการวิจัย โดยให้ผู้เรียนกำหนดหัวข้อที่ต้องการเรียนรู้ วางแผนการเรียนรู้ตามแผน สรุปความรู้หรือสร้างผลงาน และสะท้อนความคิดในสิ่งที่ได้เรียนรู้ หรืออาจเรียกว่า การสอนแบบโครงงาน (Project-based learning) หรือการสอนแบบใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-based learning)
  9. การเรียนรู้แบบกรณีศึกษา (Analyze case studies) คือ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนได้อ่านกรณีตัวอย่างที่ต้องการศึกษา จากนั้นให้ผู้เรียนวิเคราะห์และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นหรือแนวทางแก้ปัญหาภายในกลุ่ม แล้วนำเสนอความคิดเห็นต่อผู้เรียนทั้งหมด
  10. การเรียนรู้แบบการเขียนบันทึก (Keeping journals or logs) คือ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ผู้เรียนจดบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ ที่ได้พบเห็น หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน รวมทั้งเสนอความคิดเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับบันทึกที่เขียนไว้
  11. การเรียนรู้แบบการเขียนจดหมายข่าว (Write and produce a newsletter) คือการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนร่วมกันผลิตจดหมายข่าว อันประกอบด้วยบทความ ข้อมูลสารสนเทศข่าวสาร และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วแจกจ่ายไปยังบุคคลอื่น ๆ
  12. การเรียนรู้แบบแผนผังความคิด (Concept mapping) คือ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนออกแบบแผนผังความคิด เพื่อนำเสนอความคิดรวบยอดและความเชื่อมโยงกันของกรอบความคิด โดยการใช้เส้นเป็นตัวเชื่อมโยง อาจจัดทำเป็นรายบุคคลหรืองานกลุ่ม แล้วนำเสนอผลงานต่อผู้เรียนอื่น ๆ จากนั้น เปิดโอกาสให้ผู้เรียนคนอื่นได้ซักถามและแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม

การจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) ที่ตอบสนองพฤติกรรมทั้ง 4 ด้าน

ลักษณะการจัดการเรียนรู้เชิงรุก เป็นการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลายเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการตื่นตัวในด้านต่าง ๆ ได้แก่ สติปัญญา (Intelligence) สังคม (Society) อารมณ์ความรู้สึกและจิตใจ(Emotion) ร่างกาย (Physical) สามารถกำหนดกลยุทธ์การจัดการเรียนรู้ในลักษณะต่าง ๆ ดังนี้

การเรียนรู้เชิงรุกกลยุทธ์การจัดการเรียนรู้เชิงรุก
ด้านสติปัญญา– การใช้คำถามกระตุ้นการคิด (Questioning )
– การให้ผู้เรียนใช้กระบวนการสืบสอบ (Inquiry) หาคำตอบ
– การวิเคราะห์ข้อมูลให้ได้คำตอบหรือข้อสรุปในเรื่องต่าง ๆ และนำเสนอต่อกลุ่ม
– การสังเคราะห์ข้อมูล และนำเสนอต่อกลุ่มด้วยสื่อและเทคโนโลยี
– การให้ผู้เรียนทำโครงการ/โครงงานที่สนใจ
– การแก้โจทย์ปัญหาทั้งโจทย์ที่ผู้สอนเตรียมมา โจทย์ที่นักเรียนตั้งขึ้น โจทย์ที่มา
– จากชีวิตประจำวัน รวมทั้งโจทย์ที่มาจากสังคมและโลก
– การให้ผู้เรียนเผชิญปัญหาและแก้ปัญหาด้วยตนเอง
– การใช้เทคนิคการคิดแบบต่าง ๆ เช่นเทคนิคหมวก 6 ใบ ของเดอโบโน (De bono)
– การใช้วิธีสอนแบบต่าง ๆ เช่น วิธีสอนแบบอุปนัย (Inductive method )
– รูปแบบการเรียนการสอนมโนทัศน์ (Concept attainment model )
– รูปแบบการเรียนการสอนกระบวนการคิดสร้างสรรค์ (Synectic model)
ด้านอารมณ์– ให้ผู้เรียนแสดงความรู้สึกที่แท้จริง
– การสร้างบรรยากาศที่เป็นมิตร และปลอดภัย
– การแสดงความไว้วางใจในตัวผู้เรียน และยอมรับในตัวผู้เรียน
– การรับฟังผู้เรียนอย่างลึกซึ้ง (Deep listening) ฟังให้เข้าใจความคิด ความรู้สึก
– ความต้องการของผู้เรียนและยอมรับความรู้สึกของผู้เรียน
– การพัฒนาความตระหนักรู้ในอารมณ์ และความรู้สึกของตนเอง และผู้อื่น
– การไม่ตัดสินผู้เรียน ส่งเสริมผู้เรียนให้สะท้อนคิดเพื่อสร้างความเข้าใจในตนเองและผู้อื่น
ด้านร่างกาย– จัดกิจกรรมให้ผู้เรียนได้มีการเคลื่อนไหวทั้ง 4ด้าน (ร่างกาย สติปัญญา อารมณ์สังคม)
อย่างสมดุล
– จัดกิจกรรมที่ช่วยให้เกิดความพร้อมในการรับรู้และเรียนรู้
– กิจกรรมที่ใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่และกิจกรรมที่ใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก
– การสลับกิจกรรมจากกิจกรรมการคิดสู่กิจกรรมผ่อนคลาย
ด้านอารมณ์
ความรู้สึก
และจิตใจ
– ใช้เทคนิคการจัดกลุ่มการเรียนรู้แบบร่วมมือ (Cooperation learning
techniques) (เทคนิค Think-pair-share เทคนิค Jigsaw
เทคนิค Fishbowl เทคนิค Circular response เทคนิค Brainstorm)
– ใช้วิธีสอน เช่น วิธีสอนแบบอภิปรายกลุ่มย่อย วิธีสอนแบบโต้วาที วิธีสอนแบบ
สถานการณ์

แนวทางการประเมินสมรรถนะของผู้เรียน

การประเมิน (Assessment) เป็นกระบวนการที่เชื่อมโยงการจัดการเรียนรู้ของผู้สอนกับการเรียนรู้ของผู้เรียนเข้าไว้ด้วยกัน มโนทัศน์ที่สำคัญของการประเมิน คือการเน้นที่การบรรยายถึงการเรียนรู้ของผู้เรียน การบ่งชี้ว่า ผู้เรียนพัฒนาหรือก้าวหน้าในการเรียนรู้อย่างไร การวินิจฉัยข้อบกพร่องในการเรียนรู้ของผู้เรียน การให้ทิศทางหรือแนวทางที่ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้กับผู้สอนและผู้เรียนในขั้นต่อไปของการเรียนรู้การประเมินเพื่อพัฒนาสมรรถนะของผู้เรียน มีรูปแบบการประเมินปรากฏ ดังนี้

การจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) เพื่อการวัดประเมินผลเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียน

เกศทิพย์ ศุภวานิช ได้สรุปว่า การประเมินเพื่อการเรียนรู้ (Assessment for Learning) เป็นกระบวนการรวบรวมหลักฐานข้อมูลเชิงประจักษ์ต่าง ๆ ตามสภาพจริง เกี่ยวกับกระบวนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นแก่ผู้เรียนในด้านการเรียนเพื่อรู้ (Learning to know ) การเรียนรู้เพื่อปฏิบัติได้จริง (Learning to do) การเรียนรู้เพื่อการอยู่ร่วมกัน (Learning to live together) และการเรียนรู้เพื่อชีวิต (Learning to be) เพื่อให้เข้าใจกระบวนการและการแสวงหาวิธีการเรียนรู้ของผู้เรียนในแง่มุมต่าง ๆ อย่างรอบด้าน ระบุและวินิจฉัยปัญหา ให้ข้อติชมที่มีคุณภาพ และให้ข้อมูลย้อนกลับแก่ผู้เรียน เพื่อนำไปสู่การปรับกระบวนการการเรียนรู้ของผู้เรียนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

การประเมินผลการเรียนรู้ (Assessment of Learning) เป็นกระบวนการรวบรวมหลักฐานข้อมูลเชิงประจักษ์ต่าง ๆ เมื่อสิ้นสุดกระบวนการเรียนรู้ เพื่อตัดสินคุณค่าในการบรรลุวัตถุประสงค์หรือผลลัพธ์การเรียนรู้ซึ่งแสดงถึงมาตรฐานทางวิชาการในเชิงสมรรถนะ และคุณลักษณะที่พึงประสงค์สารสนเทศดังกล่าวนำไปใช้ในการกำหนดระดับคะแนนให้ผู้เรียน รวมทั้ง ใช้ในการปรับปรุงหลักสูตรและการเรียนการสอน การประเมินการเรียนรู้หรือผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนตามองค์ประกอบทางการศึกษาของบลูม 3 ด้าน คือ พุทธิพิสัย จิตพิสัย ทักษะพิสัย

การประเมินเพื่อการเรียนรู้ยังมีส่วนช่วยเพิ่มความมั่นใจให้แก่ผู้เรียนทำให้ผู้เรียนมั่นใจในความสำเร็จของตนเองในการทำงาน เป็นแรงขับในการเรียนรู้ และเพิ่มความเป็นอิสระในชั้นเรียนทำให้เกิดการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแก่ผู้เรียน เป็นการปิดช่องว่างระหว่างความเป็นจริงและความคาดหวังของผู้เรียน (เป้าหมาย) ช่วยให้ผู้เรียนพัฒนาการเรียนรู้ โดยผู้เรียนจะรู้สึกเป็นอิสระกับการประเมินและยังเป็นการประเมินเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ระหว่างเรียนได้อีกด้วย การให้ข้อมูลป้อนกลับเชิงบวกที่มีประสิทธิภาพยังเป็นปัจจัยที่จะทำให้ผู้เรียนประสบความสำเร็จ อีกทั้งยังส่งเสริมให้เกิดการสื่อสารระหว่างผู้เรียน ผู้สอน และเพื่อนในห้อง เป็นการเพิ่มทักษะในการสื่อสารด้วยสำหรับรายละเอียดของการประเมินเพื่อการเรียนรู้

แหล่งที่มาของข้อมูล : สํานักทดสอบทางการศึกษา สํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button

โปรดปิดตัวจำกัดโฆษณา

เพื่อการรับชมเว็บไซต์ที่มีประสิทธิภาพ